พัทธยา เทศทอง


บอคเซีย Boccia
ปรางทิพย์ ยุวานนท์ ผู้รวบรวม

      กีฬาพาราลิมปิก ครั้งที่ 14 ลอนดอนเกมส์ ได้ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว พบกันใหม่ครั้งหน้า ที่ นครริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล การฉลองชัยชนะได้ผ่านไปแล้วท่ามกลางความตื่นตัว ให้ความสนใจมากมายของชาวไทยทั้งประเทศ ภาพจากการแข่งขันและการให้สัมภาษณ์ของนักกีฬาพาราลิมปิกลึกซึ้งกินใจ ประทับใจผู้ติดตามชมทั้งประเทศ ไม่ใช่ชื่นชมเพียงความสามารถที่ได้รับเหรียญรางวัลกลับมาสู่ประเทศชาติ แต่ความสนใจนั้นมาจาก “คำพูดจากใจนักกีฬาคนพิการ” ที่ได้บาดใจคนฟังที่มีร่างกายปกติ ผ่านสื่อต่างๆทั่วประเทศ

     
      นักกีฬาคนพิการเกิดมาร่างกายมีข้อจำกัด แต่เมื่อฟังพวกเค้าพูด เราก็ได้ซึ้งใจ และรับรู้ถึงน้ำใจที่พวกเขามีให้สังคมไทย นักกีฬาคนพิการ... พวกเขาสู้ด้วยตัวเองไม่ได้หรอก ถ้าคนปกติอย่างเราๆ ไม่ช่วยกันสนับสนุน เขาก็จะไม่มีโอกาส .. กีฬา คือ เส้นทาง "โอกาส" ของคนด้อยโอกาส (ผู้ด้อยโอกาส เด็กด้อยโอกาส หมายถึง บุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก เนื่องจากประสบปัญหาต่างๆ ทางกาย ทางใจ ฐานะทางสังคม มีชีวิตความเป็นอยู่ด้อยกว่าคนปกติทั่วไป)
ในการแข่งขันกีฬาคนพิการ มีการจัดระดับความพิการ (Classification) สำหรับนักกีฬาผู้พิการ ตามประเภทความพิการ 6 กลุ่ม ได้แก่
  1. ความพิการทางแขนขา
  2. ความพิการทางไขสันหลังและโปลิโอ
  3. ความพิการทางสมอง
  4. ความพิการทางตา
  5. ความพิการทางปัญญา
  6. ความพิการทางหู

     กีฬาคนพิการนั้น มีการจัดการแข่งขันมามากกว่า 100 ปี ในครั้งแรกเป็นกีฬาสำหรับคนหูหนวก (http://www.paralympic.org) และแพร่หลายมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุประสงค์ในช่วงเวลานั้น คือ การให้ความช่วยเหลือทหารผ่านศึกและพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม โดยเริ่มจากการพักผ่อนหย่อนใจ ผ่อนคลายความเครียด และพัฒนามาจนเป็นการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก
     การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกมีสองรายการ เช่นเดียวกับกีฬาโอลิมปิก คือ การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว ประกอบไปด้วย 28 ชนิดกีฬา ได้แก่ Boccia, Shooting, Judo, Goal Ball, Athletics, Power Lifting, Wheelchair Tennis, Table Tennis, Swimming, Wheelchair Basketball, Archery, Sitting Volleyball, Football-5-a-Side, Football-7-a-Side, Wheelchair Dance, Wheelchair Fencing, Wheelchair Rugby, Para Cycling, Rowing, Para-Canoe, Sailing, Wheelchair Curling, Equestrian, Biathlon, Para-Triathlon, Cross-Country Skiing, Alpine Skiing, Ice Sledge Hockey ในครั้งนี้ กีฬาที่เป็นที่สนใจมากที่สุดที่ประเทศไทยได้รับเหรียญทองทั้งประเภททีมและเดี่ยวได้แก่กีฬา Boccia บ็อคเซีย (โดยจะขอบรรยายรายละเอียดของแต่ละชนิดกีฬาในครั้งต่อๆไป)

    
      กีฬาบอคเซีย มีสมาคมกีฬานานาชาติชื่อ The Cerebral Palsy International Sports and Recreation Association (CPISRA) ตั้งอยู่ที่ ประเทศแคนนาดา เป็นผู้ดูแลและควบคุมการแข่งขัน เริ่มมีการแนะนำและแข่งขันครั้งแรกใน Paralympic Games 1984 ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา มี 50 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน เป็นกีฬาสำหรับผู้พิการทางสมองและไม่แบ่งเพศในการจัดทีมแข่งขัน มีการแข่งขันเป็นประเภทคู่และประเภทเดี่ยว เล่น 4 รอบ แต่ถ้าเป็นประเภททีมจะแข่งขัน 6 รอบ การแข่งขันจะแข่งขันบนพื้นราบ แข็ง ลักษณะการเล่นคล้ายเปตอง คือ แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายพยายามโยน กลิ้ง ขว้าง เตะ หรือใช้ศีรษะ เพื่อปล่อยลูกบอลสีแดงหรือสีน้ำเงิน ตามที่เสี่ยงได้ ไปให้ใกล้ลูกแก่นหรือลูกแจ็ค “Jack” ในภาษาอังกฤษ แต่ละฝ่ายมี 6 ลูก หากฝ่ายใดโยนบอลครบ 6 ลูกและใกล้ลูกแก่นมากกว่า เป็นฝ่ายชนะ ในการแข่งขันพาราลิมปิก ลอนดอนเกมส์ ครั้งนี้ มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันบ็อคเซีย 104 คน มีทั้งหมด 7 เหรียญรางวัล ประเทศไทย ได้รับ 2 เหรียญทอง

     กติกาการแข่งขัน เริ่มต้นด้วยการเสี่ยงเหรียญ ฝ่ายใดชนะจะได้สิทธิ์ในการเลือกสีบอล และจะเป็นฝ่ายโยนบอลเข้าสนามก่อน ถ้าเลือกสีแดงจะเป็นฝ่ายที่เริ่มเล่นก่อน โดยโยนให้ลูกแก่นอยู่ในสนามเหนือเส้น Vจากนั้นจึงโยนลูกสีแดง (ก่อนโยนลูกทุกครั้งจะต้องได้รับสัญญาณจากผู้ตัดสินก่อน) หลังจากนั้นฝ่ายตรงข้ามจะได้รับสัญญาณให้โยนลูก ผู้ตัดสินจะเป็นผู้ให้สัญญาณป้าย โดยพิจารณาว่าสีใดอยู่ห่างจากลูกแก่นมากกว่า เช่นเดียวกับ เปตอง โยนจนครบฝ่ายละ 6 ลูก หรือหมดเวลาตามกำหนด เรียกว่าจบ 1 เกม จากนั้น จึงนับคะแนนในเกมนั้น และเริ่มแข่งขันเกมใหม่ เมื่อครบเกมนับคะแนนรวม ฝ่ายใดได้มากกว่าฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

   การแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 7 ชนิด คือ
  1.ประเภทบุคคล BC1
  2.ประเภทบุคคล BC2
  3.ประเภทบุคคล BC3
  4.ประเภทบุคคล BC4
  5.ประเภทคู่ BC3 คู่ละ 2 คน มีนักกีฬาสำรองได้ 1 คน
  6.ประเภทคู่ BC4 คู่ละ 2 คน มีนักกีฬาสำรองได้ 1 คน
  7.ประเภททีม (BC1+BC2) ทีมละ 3 คน ขณะแข่งขันจะต้องมีนักกีฬาประเภท BC1 อย่างน้อย 1 คน มีนักกีฬาสำรองได้ 1-2 คน
    ประเภท BC1 เป็นการเล่นสำหรับผู้พิการทางสมอง ตามการแบ่งประเภทของ CP-ISRA ระดับ CP1 (L) ผู้เล่นสามารถมีผู้ช่วยเหลือ 1 คน ซึ่งนั่งอยู่ทางด้านหลังเขตโยนประมาณ 2 เมตรในที่กำหนดให้ ซึ่งสามารถมาด้านหน้าและช่วยเหลือนักกีฬาตามที่ผู้เล่นร้องขอ เช่น ปรับหรือจัดเก้าอี้ของผู้เล่นให้มั่นคงส่งบอลให้ผู้เล่น หรือคลึงบอลตามที่นักกีฬาร้องขอและได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน    ประเภท BC2 เป็นการเล่นสำหรับผู้เล่นซึ่งพิการทางสมอง ตามการแบ่งประเภทของ CP - ISRA ระดับ CP2 (U) ผู้เล่นไม่มีสิทธิมีผู้ช่วยเหลือในการเล่น
   ประเภท BC3 (ผู้เล่นใช้อุปกรณ์ช่วย) เป็นการเล่นสำหรับผู้เล่นที่แขนขาทั้งสี่เคลื่อนไหวยากลำบากมาก มีสาเหตุมาจากสมอง และไม่ใช่สมอง ผู้เล่นไม่สามารถเข็นรถได้เอง และมีการช่วยเหลือด้วยรถเข็นไฟฟ้า ผู้เล่นจะไม่สามารถจับหรือปล่อยได้ แต่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้ แต่มีข้อจำกัดในการผลักดันบอลเข้าสู่สนาม ผู้เล่นแต่ละคนได้รับอนุญาตให้มีผู้ช่วยเหลือได้ แต่ผู้ช่วยเหลือจะต้องอยู่ในเขตโยน (box) ของผู้เล่น และหันหลังให้สนาม ห้ามมองการเล่น
   ประเภท BC4 เป็นการเล่นสำหรับผู้ที่แขนขาทั้งสี่เคลื่อนไหวได้ลำบากร่วมกับการควบคุมการ เคลื่อนไหวลำตัวได้ยาก สาเหตุจากการสั่งการของส่วนที่ไม่ใช่สมอง หรือการเสื่อมของสมอง ผู้เล่นจะมีความสามารถเพียงพอที่จะโยนแขนแกว่งลูกบ็อกเซียเข้าสนาม แต่จะต้องใช้เวลามาก ในการจับและปล่อยบอล ขาดความนุ่มนวล และความเร็วในการเคลื่อนไหว และอาจสังเกตเห็นได้ในคราวเดียวกัน ผู้เล่นจะไม่ได้รับสิทธิ์ใช้ผู้ช่วยเหลือได้

    
 สนามแข่งขัน มีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12.5 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนท้ายสนามแบ่งเป็น 6 ช่อง สำหรับผู้แข่งขันใส่หมายเลขที่ช่อง 1-6 จากซ้ายไปขวา มีเขตรูปตัว (V) เป็นเขตห้ามลูกเป้าหมายอยู่บริเวณนี้ เมื่อเริ่มการแข่งขัน (ด้านหน้าช่อง) และเส้นกากบาท (+) อยู่กึ่งกลางสนามสำหรับวางลูกแก่นเมื่อถูกกระแทกออกนอกสนาม

อุปกรณ์ที่ใช้แข่งขันดังนี้
  1.ลูกบอลสีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว ทำด้วยหนังแท้หรือหนังเทียมเย็บ ขนาดเส้นรอบวงขนาด 270 + 8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 275 + 12 กรัม ขนาดใกล้เคียงลูกเปตอง (ลูกสีแดงและน้ำเงินสำหรับผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งมีฝ่ายละ 6 ลูก บอลขาว มีจำนวน 1 ลูก เรียกว่าลูกเป้าหมาย)
  2.ป้ายบอกสัญญาณสีแดงและน้ำเงิน ใช้สำหรับแจ้งบอกสีที่เป็นฝ่ายส่งบอลเข้าสนาม
  3.สายวัด สำหรับวัดระยะห่างลูกบอลสี จากลูกแก่น
  4.กล่องหรือถาดสำหรับใส่บอลเสีย (บอลที่ออกนอกสนามหรือเล่นผิดกติกา)

      เวลาที่ใช้ทำการแข่งขัน ในแต่ละประเภทจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ประเภทบุคคล BC1, BC2 และ BC4 ใช้เวลา 5 นาที/คน/เกม แข่งขันจำนวน 4 เกม ประเภทบุคคล BC3 ใช้เวลา 6 นาที/คน/เกม แข่งขันจำนวน 4 เกม ประเภทคู่ (BC3) ใช้เวลา 8 นาที/คู่/เกม แข่งขันจำนวน 4 เกม และประเภททีม (BC1 และBC2) ใช้เวลา 6 นาที/ทีม/เกม แข่งขันจำนวน 6 เกม กติกาคือ
  1. ขณะโยนลูกบอลเข้าสนาม ห้ามร่างกาย (หรืออุปกรณ์ช่วย) สัมผัสเส้นสนาม
  2. ขณะโยนลูกบอล สะโพกของผู้เล่นจะต้องสัมผัสเก้าอี้
  3. ห้ามรบกวนคู่ต่อสู้ไม่ว่ากรณีใดๆ (ยกเว้นอาการธรรมชาติ)
  4. ผู้ช่วยนักกีฬาประเภท BC3 ห้ามหันหน้าเข้าสนามจนกว่าจะแข่งขันจบนั้นจนแล้วเสร็จ
  5.ในระหว่างการแข่งขันห้ามกระทำการใด ๆ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
  6.มีการลงโทษฝ่ายละเมิดกติกา โดยให้ฝ่ายตรงข้ามโยนบอลพิเศษ (คราวละ 2 ลูก)
  7.มีการแข่งขันต่อเวลาพิเศษ (ไท-เบรก) กรณีคะแนนเท่ากัน
(หากสนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถหาข้อมูลได้จาก www.bocciaengland.org.uk/player_classification.php)

อีกไม่นานจะลงกฎ กติกา เพิ่มเติมด้วยครับ

 

Official Website of the PARALYMPIC THAI COMMITTEE
copyright © 2016. all rights reserved
NPC Thailand 154 National Stadium Rama 1 Road Pathumwan Bangkok 10330 Thailand.
154 สนามกีฬาแห่งชาติ ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330